top of page
Search
Writer's pictureTik Xamavee

ตอนที่ 6 : SLATING - การใส่เสลท

ตอนที่ 6 SLATING - การใส่เสลท

Slate (สะ - เหลท) หรือ Clapper Board

ต้องให้อธิบายมั๊ยว่าอะไรคือ เสลท? คือ นี่เองก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่มั่นใจว่าทุกคนคงรู้จัก

เจ้าไม้/พลาสติกแผ่นๆ สีขาว ที่มีตัวเลขเยอะๆ มักแปะอยู่ตอนเริ่มภาพยนตร์ หรือหัว Shot. ตรงข้างบน เป็นก้านไม้สลับที แยกสองส่วน เอาไว้ให้ตีกันได้ให้เกิดเสียง

ในกองถ่ายทั่วโลก, แผนกที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และต้องรับผิดชอบกับเจ้านี่ คือ กล้อง, เสียง และ Script Sup - อ้อ ไม่ลืม แผนกตัดต่อด้วย

เพราะ SLATE คือฉลากของ แต่ละ Shot. ข้อมูลตัวเลขเยอะๆบนนั้น คือ รหัสแปะ เพื่อให้คนตัดรู้ว่า Shot นี้ ที่ถ่ายมา จะสำหรับนำไปใช้ในซีนไหน ฉากไหน ของเรื่อง ยิ่งเดี๋ยวนี้ถ่ายกันด้วยระบบ Digital ไม่ต้องเสียดายฟิล์มเหมือนแต่ก่อน ผกก และ ตากล้องก็กระหน่ำถ่ายกันซะยับ ถ่ายลากยาวไปไม่มีคัท -

สงสารคนตัดบ้างเหอะพ่อเจ้าประคุณ พอมันไปถึง post แล้วหน้าอินทร์ หน้าพรหม ที่ไหนจะหาGood take ของคุณเจอ - ด้วยเหตุนี้ Script Sup จึงกลายเป็นเพื่อนที่ดียามยากของคนตัดต่อ ที่คอยเป็นหูเป็นตา คอยส่องคอยเสือก คอยจดเอาไว้ให้ และ Editor ก็มักย้ำมาว่า คุณขาาาา จะถ่ายอะไรไม่ว่าเล็กใหญ่ ก็ขอความกรุณาช่วยใส่ SLATE ให้พวกกูเหอะ ไหว้ละ!

ในหนังอัดเสียงจริงจัง ที่ภาพ และ เสียง ต้องสัมพันธ์กัน (Sync) เจ้า Slate นี่แหละ คือ พระเอกคนสำคัญคอยช่วยชี้บอก เวลาถ่ายอัดเสียงเราก็เลยต้องตี Slate ดัง “แป๊ะ!” เพื่อสร้างจุดเชื่อมให้คนตัดหาคลื่นเสียง “แป๊ะ!” เจอในfile เสียง และ จับ timecode ตรงนั้น เอามา sync กับ file ภาพ ที่เป็น timecode เดียวกัน เราก็จะได้ภาพและเสียงที่ตรงกันเป๊ะ ไม่มีดีเลย์ ปากพูดไปสองคำแล้วเสียงเพิ่งมา อัลไลแบบนั้น (รายละเอียดปลีกย่อยเรื่อง frame rate ใดๆ เดี๋ยวไว้ไปเรียนในเรื่องเทคนิคค่ะ) -

ฉะนั้นก่อนถ่าย เช้าตรู่ อิแผนกเสียงนางก็จะมาระ มา Sync timecode ของนางเข้ากับกล้อง ประเทศไทยเรา Slate มักเป็นสมบัติของ Camera Rental House (บริษัทผู้ให้เช่ากล้อง) คือมันจะมากับทีมกล้อง หรือ ถ้า Sound recordist คนไหน เทพๆ ท่านก็จะพก Slate ไฮโซมาจากบ้านก็มี

หนหนึ่ง ฉันถูกส่งตัวไปเกาหลี เพื่อทำโฆษณา SAMSUNG, งานนั้น บริษัทผู้ผลิตโฆษณาเป็น ฝอออซซี่ แถมเป็นงาน Visual effect อลังการ ผู้กำกับจึง request script supที่พูดอังกฤษ ให้มา on set ด้วย… ระคือ ที่เกาหลีเค้าหากันไม่ได้ หรือไม่ได้หาก็ไม่รู้ ฉันจึงได้บินไป (เก๋ๆ) พร้อมอุปกรณ์บางชิ้น ที่เช่าจากบ้านเรา

- พอจะได้เวลาถ่าย เรียกหา Slate จากทีมกล้อง พี่เกาทำงง มองหน้ากันเลิ่กลั่ก แกว่า ทีมแกไม่มี Slate คนที่มีคือ Sound ว่ะ???? กูละงง ไปไม่ถูก เอาๆ sound ก็sound (อย่างที่บอก sound เทพๆเค้ามีกัน) - คิดถึงเมืองไทยขึ้นมาฉับพลัน, คิดถึงน้องๆ ผู้ช่วยกล้อง และ สำเนียงการอ่านเสลทอิงลิช แอ๊คเซ่นอัน บาดจิตของน้องๆที่เกียร์เฮด (การได้ฟังน้องๆทีมกล้องขานเสลทเป็นภาษาอังกฤษ คือ ความบันเทิงอย่างหนึ่ง)

ข้อมูลที่อยู่บนนั้นก็ได้แก่ ชื่อหนัง/ชื่อ project เลข Scene, เลข Shot, เลข Take, Camera roll, วันที่, ชื่อ ผู้กำกับ, ชื่อผู้กำกับภาพ, วันที่, Framerate, ข้อมูล Sound ( และอื่นๆที่อยากจะใส่กัน เช่น Happy Birthday นางเอก หรือ ขอแสดงความไว้อาลัยแก่ Sarah - 555 ล้อเล่น)

เวลาทำหนังฝรั่ง ฉันจำเป็นต้องส่งอีเมลคุยกับ Editor ก่อน เพื่อเคลียร์คัทว่า หนังเรื่องนี้เธอจะให้ฉันใช้ Slate ระบบไหนดีจ๊ะ? เพราะเท่าที่เคยทำงานมา International Slateที่ได้รับการยอมรับเป็นภาษาสากล หลักๆเลยมี 2 ระบบ คือ UK Slate และ US Slate

UK SLATE : ชื่อ ก็บอก ว่า Slate อังกฤษ

วิธีการใส่ SLATE ของพี่ UK เค้าคือ 1. เขียนเลขซีน 2. เลข Shot, Shot แรกของหนัง ไม่ว่าจะเริ่มด้วยซีนอะไรก็ตาม จะถือเป็น Shot 1, แล้วจากนั้น ก็ไล่เลข 2,3,4,5,6,7,8 ——> ไปยันจบเรื่อง แม้จะถ่ายซีนใหม่ เราก็เปลี่ยนแค่เลขซีน ส่วนเลข Slate นั้นจะ Run ไปเรื่อย ถ่ายหนังยาวๆ ก็ลากกันไปเป็นหลักพันก็มี เช่น SLATE 9010/ SCN 54/ TAKE1 เป็นต้น เวลาทำหนังอังกฤษ ในวันปิดกล้อง ฉันชอบชวนทีมกล้องเล่นพนัน - มาพนันกัน ว่า slate สุดท้ายของหนังเรื่องนี้คือเลขอะไร แล้วลงเงิน เลขใครใกล้สุด คนนั้นรวย! 😆

ข้อดีของ Slate อังกฤษ คือ รันง่าย เด็กกล้อง บางทีล่กๆ หา Script Supไม่เจอ แค่รู้ว่าถ่ายซีนอะไร เลข Slate ก็จัดการเองได้ แถมเวลาเอาฟุทเทจไปลงคอม Data ก็จะเรียงตัวกันสวยงามตาม Digit Number ไม่ทับซ้อน - หายก็รู้ ดูก็งามตา งิ

US SLATE : ค่ะ ชื่อก็บอก ว่าของพี่มะกันเค้า

SLATE พี่กันใช้ระบบอักษร (Alphabeth) โดยมากพี่กันจะมี format ในการถ่ายทำที่ค่อนข้างตายตัว คือ ถ่าย Master ก่อน แล้วมา MS, CU -etc ( ใครๆเค้าก็ทำกันแบบนี้ม๊าย? แต่บางคนก็ไม่) ฉะนั้น หนังพี่กันก็ใส่เลขซีน - ถ้า Shot แรกก็ ใส่เลขเปล่าๆ ไปก่อนเช่น SCN 25/ TAKE1 พอ shot แรกผ่าน เข้า MS เลข slate ก็จะเปลี่ยนเป็น SCN 25A /TAKE1 , แล้วไล่ไป 25B, 25C, 25D, 25E ตามลำดับ แต่ถ้าซีนไหนยาวมหากาพย์ มี shot ยิบยับ พอครบตัวอักษรถึง Zแล้วก็ให้วนมาที่ A ใหม่ แต่คราวนี้จะต้องเบิ้ล 2 ตัว เช่น SCN 25AA/ SHOT1/ TAKE1 เป็นต้น

หมายเหตุ : US SLATE จะข้ามตัวอักษร 2 ตัว คือ i กะ o เพราะมันคล้ายเลข 1 กะ 0 นั่นเอง

ความสนุกของ US SLATE อยู่ที่ เวลาขาน ต้องมีวิธีขาน SLATE แบบกองทัพ! เนื่องจากการออกเสียง เอ บี ซี ดี อี มันธรรมดาไป... ไม่! มันคล้ายกันเกินไป บางครั้งคนฟังในโพสท์อาจสับสนได้ พี่กันเค้าเลยเอาวิธีการอ่านตัวอักษรแบบกองทัพมาใช้ถ่ายหนังด้วย ข้างล่างคือ list ที่น้องๆผู้ช่วยกล้องที่น่ารักของฉันต้องท่องจำ และออกเสียง

A – Alpha B – Bravo C – Charlie D – Delta E – Echo F – Foxtrot G – Golf H – Hotel J – Juliet K – Kilo L – Lima M – Mike N – November P – Papa Q – Quebec R – Romeo S – Sierra T – Tango U – Uniform V – Victor W – Whiskey X – X-ray Y- Yanky Z - Zulu

เวลาจะขานก็เช่น ( ทะเว้นตี้ไฟ้ฟว์ อัลฟ่า/เทค วัน -รอมือหนึ่งตะโกนว่า มาร์ค! ตี - แล้วรีบวิ่งออกไปให้พ้นๆ เร้วววว จะถ่ายแล้วววว !!!)

555555 บอกแล้วว่าสนุก ตัวโปรดของฉันคือ Foxtrot (อ่านว่า ฟ็อกซ์-ทร่อท) - เข้าใจยัง ที่พูดว่า การฟังน้องๆทีมกล้องออกแอ๊คเซ่นตอนตีเสลทแบบรีบๆ มันคือความบันเทิงของ Script Sup!

*** อ้อ อีกอย่าง Script Sup มีหน้าที่แค่บอกเสลท นะจ๊ะ ไม่ได้มีหน้าที่ตี เพราะเราต้องดูมอนิเตอร์ ฉะนั้น ความเข้าใจที่ว่า คนทำคอนทินิวต้องตีเสลท เป็นความเข้าใจที่ผิดจ้ะ

ปล. ทีมกล้อง เสียง และพี่ๆ ท่านใด มีอะไรอยากเสริม เชิญได้เลยค่ะ

2,869 views0 comments
bottom of page