top of page
Search
Writer's pictureTik Xamavee

ตอนที่ 9.1 : Screen direction และ 180 - degree rules (ตอนที่1)

ความหมาย และ ความสำคัญ

วันนี้ มี คำ 2 คำ จะมาให้ทำความรู้จัก Screen Direction และ 180 Degree rules.

ก่อนจะเขียนถึงรายละเอียดของมัน - นี่ถึงกับถามตัวเอง ว่าริจะเขียน นี่เข้าใจดีแล้วชิมะ? ตอบว่าไม่เลย ทุกวันนี้ก็งง เจอหน้างานทีไรก็ล่กทุกทีมาทำงานคอนทินิว ฉันก็พยายามถามหลายๆคน อ่านจากหนังสือหลายๆเล่ม - ล้วนอธิบายได้เข้าใจยากทั้งสิ้น ฉะนั้น หากคุณลูกเพจอ่านแล้วงง ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ ไม่ต้องตกใจ.. ไม่เป็นไร เรามาค่อยๆทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน.

คนทุกคนมีจุดบอดที่ไม่สมบูรณ์แบบ ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น

ตั้งแต่เล็ก ฉันไม่สามารถ แยก “ซ้าย” และ “ขวา” ออกจากกันได้ ฉันต้องใช้ปลายนิ้วชี้ คลำปุ่มเล็กๆ ที่หยาบๆด้านในของนิ้วโป้ง เพื่อจะบอกว่า มือข้างนี้คือ มือขวา (เพราะ เป็นนิ้วข้างที่ถูกกดด้วยดินสอ ตอนใช้มือข้างนี้เขียนหนังสือ)

แล้วเมิงมาเป็นคอนทินิวเนี่ยนะ??? ค่ะ กรูจึงมีชีวิตที่ต้องพยายามมากกว่าปกติอยู่สักเล็กน้อย ล่ะนะ ในการทำมาหากิน

ทีนี้ เมื่อต้อง เจอกับ Screen direction และ 180 - degree rule. ซึ่งเป็นบทบัญญัติอันว่าด้วย “ความต่อเนื่อง” ทางภาพยนตร์โดยแท้ ไม่รู้ว่าครูไม่สอน หรือว่าหลับในชั่วโมงเรียน (น่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า) งานแรกจำได้ -บอกเลยว่า ตายอย่างเขียด.

อะ อะ มาเอาความหมายขกันก่อน

Screen Direction คืออะไร

Screen Direction บางครั้งเรียกว่า Camera Direction กล่าวถึง ทิศทางการเคลื่อนไหวของ Subject ใน เฟรมภาพ ที่ถูกนำมาประกอบกันเป็นภาพยนตร์ ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ก็ได้แก่ การเคลื่อนไหวจาก ซ้าย ไป ขวา, ขวาไปซ้าย, พุ่งไปข้างหน้า (วิ่งออกจากกล้อง : away from camera, toward back ground), วิ่งเข้าหากล้อง ( toward the camera, toward foreground)

Screen แปลว่าจอ Direction แปลว่า ทิศทาง - Screen Direction ในความหมายที่ฉันเข้าใจ คือ การรักษาทิศทางการเคลื่อนไหว ของ Subject บนจอ ไม่ว่าจะเปลี่ยนมุมกล้อง และ ขนาดภาพไปอย่างไรก็ตาม เพื่อ สร้าง “ความต่อเนื่อง (Continuity) ให้กับงานภาพยนตร์ - อย่างที่เคยบอก ว่า บรรพบุรุษของเรานั้นไม่ธรรมดา และ จริงจังกับการทำเรื่องเล่นๆ เป็นอย่างสูง

ชนเผ่าสร้างภาพ และ ปั้นน้ำเป็นตัวของเรา จึงคิดค้นวิธีการ ที่จะนำเสนอเรื่องราว ลงบนจอ ได้อย่างสมจริง ในทุกอณูของภาษาภาพ การจะถ่ายตัวละครวิ่งเข้า วิ่งออก นี่นางไม่ได้ทำกันสั่วๆ นางคิดแล้ว ว่าวิ่งกันจากไหน —> ไปไหน, เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่? (Time Cut) หรือ วิ่งมาทันทีเลยจากซีนที่แล้ว (Direct Continuity) ———หูววววววววววว

และ กล่องดวงใจทศกัณฐ์ ของงาน screen direction นี่ มีชื่อว่า 180 - degree rule. (กฏ 180 องศา)

เบื้องต้น - กฏ 180 องศานี้ เกิดจากการลากเส้นสมมติขึ้นมา 1 เส้น ระหว่าง 2 subject บนจอ -เช่น เมื่อคนสองคนยืนคุยกัน เส้นสมมตินี้ ก็คือเส้น ที่ สายตาของทั้งคู่มาประสานกันนั่นเอง (eye contact) ในตำราที่ป้าแมกกี้ให้มา นางบอกว่า “ The concept of imaginary line can better describe as a theoretical two subjects closet to the camera on each side of the frame."

หืม? อธิบายง่ายๆก็คือ ให้ลากจาก 2 คนที่ยืนใกล้กล้องที่สุด ในแต่ละฝั่ง คือเฟรมซ้าย และ ขวา. (คือบางทีในซีนมันมีมากกว่า 2 คนไง)

เส้นสมมตินี้ มีชื่อว่า Axis (เอ๊ก-ซิส) เป็นที่เข้าใจว่าคือสิ่งเดียวกันกัน เมื่อเรียกว่า “Aixs Line" หรือว่า "แกน" จริงๆมีหลายชื่อมาก

ซึ่งเวลาวางเฟรม ตากล้องจะต้องระมัดระวังในการวางกล้อง ให้อยู่ใน แกนที่ถูกต้องตลอดทั้งซีน ไม่ว่าจะเปลี่ยน shot ไปเป็นกว้าง หรือแคบ ขึ้นลง ประการใด เพราะหากเผลอข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของแกนแล้ว ตำแหน่ง และ ทิศทางบนจอ จะเพี้ยนไปทันที (ลงไปดูภาพประกอบด่วน)

(ซึ่งตอนถ่ายนี้ Script Sup มีหน้าที่ตองตรวจเช็ค และ ช่วยสร้างความมั่นใจ

**** การตรวจเช็คและสร้างความมั่นใจนี้ จะขอ**ย้ำ ว่า มันไม่ใช่การ “จับผิด” แต่มันคือการทำงานเป็นทีม “team work” เราต้องช่วยกันดู และ เปิดใจ เพื่อให้งานออกมาถูกต้อง และ ดีงามพระรามแปด) บางหนัง ผู้กำกับก็ตั้งใจจะกระตุกฉีกกฏนี้ ด้วยเหตุผลอันสมควร เพื่อความimpact หรือเพื่อรับใช้การเล่าเรื่องบางอย่างของหนัง อันนี้ก็ทำความเข้าใจกัน และรับฟังเป็นกรณีไป *อย่าลืม ว่าหนังของเขา 😝

(และในอดีต กลุ่ม French New Waves และ Stanley Kubrick ก็ฉีกมาระ - กระทั่งเฮียหว่อง การ์ไว บางครั้ง นางก็ไม่แคร์) #มั่นใจว่าเทพนะ

เจ้าแกนนี้ หน้าที่ของมัน คือเป็นตัวสร้างความต่อเนื่อง และ ระบุตำแหน่งไปในภาพ ว่า Subject ไหน จะอยู่ฝั่งไหน และกำลังเคลื่อนไปในทิศทางไหน เพื่อไม่ให้คนดูงง หลงทิศ เวลาไปตัดต่อและจัดฉาย - ถามว่า การบอกจุด ระบุฝั่งนี่มันสำคัญนักเรอะ?

รุ่นพี่ช่างภาพท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า :

Auan Taweerat ในคลาสเรียนเด็กสมัยนี้ พี่ยกตัวอย่างถ่ายทอดกีฬาทุกชนิด เช่นบอลระหว่างผีกับหงส์ วอลเลย์ เทนนิส ว่ายน้ำ คือใช้กฎเดียวกัน ห้ามให้คนดูหลงทิศ ถ้ากล้องข้ามแกนปั๊บ เจอราด์หรือรูนีย์ก็จะยิงประตูฝั่งตัวเองทันที

ยูโหนว?

เอาแค่นี้ก่อน - การบ้านวันนี้ จงไปดูหนัง หรือดูบอล แล้วสังเกต ว่าอะไรอยู่ฝั่งไหน, ตัวละครวิ่งเข้า ซ้าย หรือฝา... ค่ะ วันนี้เอาแค่ทำความรู้จักก่อน สวัสดี โปรดติดตามตอนต่อไป รายละเอียดยังต้องคุยกัน

(ไม่ใช่ไร นี่ต้องไปนั่งนึกต่อ - กรูจะเขียนยังไงดีแว้) ----ขอตัวช่วยหน่อยข่ะ!

2,396 views0 comments
bottom of page