top of page
Search
Writer's pictureTik Xamavee

ตอนที่ 10 : ประสบการณ์ PA กับผู้กำกับ Hollywood

วันสงกรานต์ทั้งที จะเขียนเรื่อง Axis Line ต่อ ก็เกรงคุณๆจะเบื่อ เพราะเรื่องนั้นมันต้องคุยกันอีกยาว...

ดังนั้น วันนี้ จะขอคั่นด้วยเรื่องราวชีวิตของ โอชิน. ไม่ใช่! ของเค้าเอง...

ด้วยความที่เป็นเด็ก Gen X ตอนปลาย การถูกระบบแช่แข็ง และการไม่รู้จักตัวเอง คือจุดอ่อนของเรา... รุ่นใหญ่สมัยนั้น ก็มักสอนเราว่า“เธอต้องเลือกเอาสักสาย จะไปสายผู้ช่วยผู้กำกับ หรือ จะไปสายโปรดิ๊ว” - (มี 2 สายเองเหรอวะ?) ไอ้เรางิก็ เครียด… ห่านเอ๊ย เป็น ผู้ช่วยผู้กำกับ แม่งต้องยืนกลั้นฉี่ … ตะโกน เงียบค่าาาา! พร้อมถ่าย!!!! ทำเสียงเหมือนทหาร แอ๊บห้าวตลอดเวลา มันไม่เหมาะกะเราเลย ว่าป้ะ? มันไม่สวย... ฉันเลยผันตัวไปติดสอยห้อยตาม ฝากเนื้อฝากตัวกับพี่ Location Manager รุ่นใหญ่คนหนึ่ง (นี่สวยแล้ว?) ด้วยความที่รักการเดินทาง ไม่กลัวความลำบาก สมบุกสมบัน และ มีฝีมือในการถ่ายรูป ฉันจึงได้ไปช่วยเป็นมือ scouting ให้พี่คนนี้อยู่หลายปี ทำมาได้พักหนึ่ง จนกระทั่งมีความก้าวหน้าในสายงาน ได้เป็น Location Manager ให้หนังไทยได้หนึ่งเรื่องคือ "ตั๊ด สู้ ฟุด” ของคุณพี่ จาตุรงค์

5555 ใช่ค่ะ คุณ อ่านไม่ผิด … ดิฉัน นั้น ทำ ตำแหน่งคนหา โลเกชั่น !!!! และนั่นก็คือหนังไทยเรื่องสุดท้ายที่ฉันทำ ก่อนจะถึงแก่ ซาโตริว่า งานโลเกชั่นแม่งไม่เหมาะกะกูว่ะ … เช้ามาต้องไปโบกรถ ต้องไปdiscuss กะพี่รถตู้ ว่าโลนี้ พี่จะจอดกันที่ไหน? ไรไร ไม่อะ มันไม่ใช่ตัวกูเลย มันไม่..เอ่อ มันไม่สวย (อีกละ ไหนมึงบอกเป็นคนสมบุกสมบัน? ) ละอีกอย่าง การทำหนังไทยสมัยก่อน (ไม่รู้สมัยนี้เป็นไงนะ) เราจะได้รับการจ่ายค่าแรง แบบ ระบบ 30/30/40 คือ 30% แรก จะจ่ายเมื่อหนังเปิดกล้อง (แล้วที่เตรียมงานมาก่อนแรมเดือนนั้นเราเอาอะไรกินหนอ?) 30% ที่สอง จะได้เมื่อหนังถ่ายไปครึ่งทาง (อาจกินเวลาอีก 3-4 เดือนถัดมา) ในส่วนของ 40% สุดท้าย จะได้ก็ต่อเมื่อ หนังปิดกล้องแล้ว และ ทีม Art และ เสื้อผ้า เคลียร์บิลเสร็จ (คุณพระ... รอไปอีก 2 เดือน) - Film Crew หนังไทยรุ่นฉันจึงกินแกลบเป็นอาหารค่ะ พวกเรามักหงุดหงิด โมโหง่าย มองโลกในแง่ร้าย แก่งแย่งแข่งขัน (ก็ท้องมันหิวอะ... เนาะ) แม้เส้นทางอาชีพจะไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบ.. ไม่นานนัก ฉันก็ได้พบโลกใหม่อีกโลกหนึ่ง … มันคือโลกแห่ง Service Production งานกองถ่ายต่างประเทศ … ประเดิมเรื่องต้นๆด้วยงานแสนประทับใจ อย่าง The Lady ของLuc Besson กองนั้นเค้ามี Script Sup มาจากฝรั่งเศสแล้ว ฉันจึงไปเริ่มงานในตำแหน่ง PA. ค่ะ อ่านไม่ผิดค่ะ PA. - หรือ Production Assistant. ภาษาไทยแปลว่า ลูกจ้างทั่วไปในแผนก Production. (หรือฝ่ายสวัสดิการ) หน้าที่รับผิดชอบคือ เค้าให้ไปทำอะไรก็ไปทำค่ะ ตั้งแต่หาซื้อคุ้กกี้ให้ผู้กำกับ - ต้องเป็นยี่ห้อ Digestive แบบ Original เท่านั้น หาซื้อได้ที่ Emporium (สมัยนั้นยังไม่แพร่หลาย), หาพี่เลี้ยงให้ลูกชายผู้กำกับ, พาบัญชีไปหาหมอ, ถ่ายเอกสาร, จัดการเรื่องน้ำดื่มและ ขนมจุกจิกในออฟฟิศ และ รับคำสั่งจัดการธุรกรรมจิปาถะต่างๆ ฯลฯ ค่าแรงที่ได้ในตอนนั้น คือ อัตรา week ละ 18,000 บาท. คุณพระ! อาทิตย์ละ 18,000 บาท!!! ตกเดือนละ 72,000 บาท ทำหนังไทย กูกินได้เป็นปี!!! เท่านั้นยังไม่พอ... เค้าจ่ายเป็นเงินสด!!!!! - คนอย่างเรา เงินซื้อได้ อย่างไรก็ตาม ฉันก็ยังไม่ได้มีโอกาสได้เข้าใกล้ตัว Luc Besson. เหม่ … ยุคนั้นพี่ท่านถือว่าเปนสมมติเทพองค์หนึ่งของวงการ เด็กหนังอย่างฉันก็ย่อมอยากจะเข้าใกล้เป็นธรรมดา - แล้ววันหนึ่งโอกาสของฉันก็มาถึง เพราะกองหนังนอกถ่ายกัน 6 วัน ต่ออาทิตย์ และจะมีวันหยุดแค่วันอาทิตย์วันเดียวเท่านั้น ช่วงกลางๆเรื่อง เจ้านายแผนกเสื้อผ้าจึงจัด party เพื่อสร้างความบันเทิงให้ทีมงาน แถมชวนทุกฝ่ายในกองไปจอยกัน กระนั้นก็ดี พ่อใหญ่ Luc ก็ไม่ได้มีความแคร์ปาร์ตี้เลยแม้แต่น้อย นางมีดำริ จะไปถ่าย เฮลิคอปเตอร์ช็อต เพื่อมาทำ B-roll ในวันอาทิตย์ (สมัยนั้นโดรน ยังไม่เข้าวงการ) เพราะทุกคนในกองต่างอยากเมามายในคืนวันเสาร์ - หวยจึงมาออกที่ลูกจ้างชั้นประทวนอย่างฉัน. คำสั่ง: เมิงจงพาคุณท่านไปขึ้นฮอที่สนามบินดอนเมือง เช้าวันอาทิตย์ ตอนตี 4! ฉันไม่เสียใจเลยที่อดไปกินเหล้า รีบกลับบ้านนอนอย่างเร็ว เพราะพรุ่งนี้จะได้เข้าเฝ้า พณ ท่าน ลุค เบซง!!!! เช้านั้น... ฉันซื้อน้ำ ซื้อข้าวกล่อง เตรียมการล่วงหน้า ที่มาตี4 เพราะ พี่ๆทีมกล้องต้องมาริกกล้องเข้ากับเฮลิคอปเตอร์ คือต้องพร้อมถ่ายเต็มที่เมื่อท่านมาถึง วันนั้นเราถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มม. ค่ะ ฟ้าใกล้สาง Director Van ก็แล่นมาจอด ฟ้าบบบบ! คุณลุงลุคเดินหัวยุ่ง Bed look ลงมาจากรถ... ฉันเริ่มหนาวหลัง แต่ก็แข็งใจ พานางเข้าไปคุยกับนักบิน —กรี๊ดดดดดด! กูได้เป็นล่ามให้ เบซง!!! ตื่นเต้นชิบหาย

(แอบถ่ายรูปมาได้แค่นี้ค่ะ ช่วงนั้นถูกจับเซ็นสัญญา ข้าพเจ้าจะรักษาความลับ)

เพราะการถ่ายด้วยกล้องฟิล์มนั้นมีข้อจำกัด และการถ่ายในเฮลิคอปเตอร์ก็มีข้อจำกัดอีกเช่นกัน. ในทางการบิน ต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องไป คือมีแค่กัปตัน และลุงลุค ซึ่งจะเป็นคนถ่ายเอง และคน control อุปกรณ์ stabilizer ที่ช่วยลดความสั่นของกล้องเท่านั้น - ทว่า ฟิล์ม 35 มม. หนึ่งแม๊ก 400ft สามารถถ่ายได้แค่เพียง 4 นาทีครึ่ง. (ด้วยอัตราปกติ 24เฟรม ต่อวินาที สำหรับงานภาพยนตร์ สำหรับงานโฆษณา คร่าวๆก็ตั้ง normal speed ที่ 25FPS เพราะต้องออกอากาศทางจอทีวี - บางกล้องไม่มีก็ตั้งใกล้ๆที่ 24.976) แม้จะเป็นแม็ก 1000ft ก็ได้อย่างมากแค่ 10 นาที ฝร่าๆ - ลุงจะบินไปถ่ายเหนืออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ทีนี้ ถ้าฟิล์มหมด ลุงจะต้องบินกลับมาดอนเมือง เพื่อจอดโหลดฟิล์ม แปลว่าลุงจะเสียเวลาไปกลับ ซึ่งไม่ได้คำณวนไว้ (เราเช่าฮอฯแค่ชั่วโมงเดียว) ลุงงอแง ยืนกรานร่อนลงจอดโหลดฟิล์มสนามบินแถวใกล้ๆนั้นให้ได้ แต่นักบินไม่อนุญาต เพราะการลงจอดแบบนั้น มันต้องประสานงานกับสนามบินท้องที่ล่วงหน้า ระวันนั้นก็เป็นเช้าวันอาทิตย์ด้วย - ไม่มีใครตื่นมารับเรื่อง อย่างแน่นอน. ประสบการณ์เป็นล่ามให้ Luc Besson ของฉัน จบลงที่... ลุงนักบินยืนขึ้นตบโต๊ะ และพูดว่า “NO! This is Thailand. And I am the PILOT!” — กูไม่ต้องแปล คุณลุงกัปตัน มุมน้ำเงิน เป็นฝ่ายชนะ - ในส่วน ผกก.ของเรานั้น แอนตาซิล จัดให้ได้บินวนเหนือแก่งกระจานหนึ่งรอบ สำเร็จ Shot Bird Eye View ของแก่งกระจานแบบจำกัดจำเขี่ย แล้วจบ กลับบ้านนอน. เออหนอ ฉันคิด ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้กำกับชื่อดัง ใหญ่โตระดับไหน - ในบางสถานการณ์ มันย่อมต้องมีคำว่า Limit.

กว่าจะได้ถ่ายรุปกับลุง ก็ต้องรอวันปิดกล้อง.. รูปนี้ถือเป็นบันทึกดีๆในชีวิตการทำงานของฉันเลยค่ะ :)

3,234 views0 comments
bottom of page